Tuesday, September 9, 2008

นวัตกรรม (innovation)

การจัดสำนักงานในอนาคต หรือการจัดสำนักงานอัตโนมัติ (Office Automation) หรือเรียกย่อๆ ว่า OAเป็นการให้ความสำคัญของคอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อที่จะให้สอดคล้องกับความเป็นไปของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปทุกวันนี้ สำนักงานควรที่จะเห็นความสำคัญของระบบเทคโนโลยีให้มากขึ้น โดยควรที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้บริหารงานในสำนักงาน เพื่อที่จะเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานของคนในสำนักงานให้สูงขึ้นอยู่ตลอดเวลาแต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การจัดสำนักงานอัตโนมัติดังที่กล่าวมาข้างต้น ยังอยู่ในรูปแบบที่ไม่สมบูรณ์ เพราะธุรกิจต่างๆพัฒนาไปสู่ระบบอัตโนมัติได้ไม่เท่ากัน มีการวิเคราะห์กันว่าแนวโน้มความเป็นไปได้ของ OA (Office Automation) ในเมืองไทยนั้นคงใช้เวลาอีกไม่กี่ปี เพราะการพัฒนาระบบการบริหารสมัยใหม่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ผู้บริหารจะถูกกดดันจากการทำงานสูงขึ้น ต้องทำงานแข่งกันทั้งเวลา สภาพเศรษฐกิจ สภาพการตลาดเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จำเป็นต้องใช้การตัดสินใจอย่างฉับพลัน หากอาศัยเพียงประสบการณ์เพียงอย่างเดียว ย่อมถือว่าเป็นการเสี่ยงเกินไปโดยไม่จำเป็น หากสามารถใช้สำนักงานอัตโนมัติมาช่วยลดอัตราการเสี่ยงลง โดยเพิ่มความแม่นยำของข่าวสารข้อมูลมากขึ้น ย่อมทันต่อเหตุการณ์สำหรับการบริหารในปัจจุบัน และแนวโน้มต่อไปของ OA จะเข้ามาเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานในองค์การต่อไปในอนาคต แนวโน้มที่ผู้บริหารสำนักงานควรให้ความสนใจ คือ แนวคิดในอนาคต ได้แก่ การสร้างนวัตกรรม ( Innovation) และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ตลอดจนการบริหารจัดการสำนักงานในอนาคตให้เหมาะสมมากที่สุด ซึงนับเป็นงานที่ยากลำบากและท้าทายของผู้บริหารเป็นอย่างยิ่ง

นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์

การบริการหรือกระบวนการเช่นกันแต่ ต้องเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในองค์การซึ่งมีการแนะนำสู่ตลาดโดยการใช้ประโยชน์หรือการค้าก็ได้ เช่นผลิตภัณฑ์ใหม่ การบริการใหม่ หรือกระบวนการใหม่ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่ในโลก เสมอไปบางทีเป็นเพียงการนำมาใช้ครั้งแรกในองค์การ(Aikenand Hage,1979อ้างโดยKhalil,2000) นวัตกรรมอาจเปลี่ยนแปลงงานทางด้านอุตสาหกรรมซึ่งทำให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น กระบวนการของนวัตกรรมเป็นการบูรณาการทั้งเทคโนโลยีและการประดิษฐ์เพื่อสร้างสิ่งใหม่ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือระบบดังนั้นการประดิษฐ์และนวัตกรรมจึงมีความสัมพันธ์กันแต่กระนั้นก็ยังมีความแตกต่างกัน เช่น การประดิษฐ์อาจเป็นเพียงลำดับเหตุการณ์หรือการสร้างชิ้นงานขณะที่นวัตกรรมสามารถลำดับ 2 ออกมาเป็นกระบวนการ นวัตกรรมทางเทคโนโลยีรวมทั้งความคิดริเริ่มทางเทคนิคซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความรู้แล้วแปลงสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้เช่นฮาร์ดแวร์ หรือกระบวนการ มีการนำนวัตกรรมเผยแพร่เพื่อให้เกิดการยอมรับจนถึงจุดที่เป็นยอมรับสู่ตลาด การจัดการเทคโนโลยีมีส่วนส่งเสริมการประดิษฐ์และการจัดการเพื่อให้เกิดนวัตกรรม สิ่งที่คล้ายกันคือทั้งการประดิษฐ์และนวัตกรรมเกิดขึ้นจากกระบวนการที่เป็นความคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์สภาพแวดล้อมที่เสริมสร้างให้เกิดนวัตกรรมได้แก่ การอนุญาตให้คนทำงานในสาขาที่สนใจ การกระตุ้นให้พนักงานมีปฏิสัมพันธ์อย่างกว้างขวางกับผู้ร่วมงาน การเปิดกว้างในเรื่องการยอมรับต่อความเสี่ยงในเรื่องความล้มเหลวในสร้างนวัตกรรมและความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น การเสริมแรงจูงใจด้วยรางวัลและการยกย่อง
ภูมิปัญญา (Intellect) และนวัตกรรม (innovation) เป็นแหล่งของคุณค่าทางเศรษฐกิจ การเติบโตและกลยุทธ์ที่สำคัญในปัจจุบันและอนาคต ก่อนอื่นควรเข้าใจความหมายของศัพท์เฉพาะทั้งสองคำดังนี้
ภูมิปัญญา (Intellect) หมายถึง องค์ความรู้ ความสามารถและทักษะ อันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เลือกสรร ปรุงแต่ง พัฒนา และถ่ายทอดสืบต่อกันมา เพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับยุคสมัย ภูมิปัญญานี้มีลักษณะเป็นองค์รวม มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นในวิถีชีวิต ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นอาจเป็นที่มาขององค์ความรู้ที่งอกงามขึ้นใหม่ที่จะช่วยในการเรียนรู้ การแก้ปัญหา การจัดการและการปรับตัวในการดำเนินวิถีชีวิตของคน ลักษณะองค์รวมของภูมิปัญญามีความเด่นชัดในหลายด้าน เช่น ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรม และหัตถกรรม ด้านการแพทย์แผนไทย ด้านการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านศิลปกรรม ด้านภาษาและวรรณกรรม ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี และด้านโภชนาการ
นวัตกรรม (innovation) มาจากคำว่า “นว” หมายถึง ใหม่ “กรรม” หมายถึง การกระทำเมื่อนำสองคำนี้มารวมกัน เป็น นวัตกรรม หรือนวกรรม จึงหมายถึงการกระทำ ใหม่ ๆ ซึ่งในที่นี้มีนักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของคำนี้ไว้ดังนี้
- ทอมัส ฮิวช์ (Thomasl Hughes, 1971 อ้างถึงใน ไชยยศ เรืองสุวรรณ. 2521 : 13) ได้ให้ความหมายของ คำว่า นวกรรมว่า “เป็นการนำวิธีการใหม่ ๆมาปฏิบัติ หลังจากได้ผ่านการทดลองหรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้น ๆ แล้วโดยเริ่มมาตั้งแต่การคิดค้น (Invention)
พัฒนาการ (Development) ซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปของโครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project) แล้วจึงนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งมีความแตกต่างไปจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา และเรียกว่า นวกรรม (Innovation)”
- มอตัน (Morton, J.A. อ้างถึงใน ไชยยศ เรืองสุวรรณ. 2521 : 13) ได้ให้นิยามของนวกรรมไว้ในหนังสือ Organising for Innovation ของเขาว่านวกรรม หมายถึงการทำให้ใหม่ขึ้นอีกครั้ง (Renewal) ซึ่งหมายถึงการปรับปรุงของเก่าและการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนหน่วยงานหรือองค์การนั้น ๆ นวกรรมไม่ใช่การขจัดหรือล้มล้างสิ่งเก่าให้หมาดไป แต่เป็นการปรับปรุงเสริมแต่ง และพัฒนาเพื่อความอยู่รอดของระบบ
- วสันต์ อติศัพท์ (2523 : 15) กล่าวไว้ว่า นวกรรม เป็นคำสมาสระหว่าง “นว” และ “กรรม” ซึ่งมีความหมายว่า ความคิดและการกระทำใหม่ ๆ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เช่น นวกรรมทางการแพทย์ หมายถึง ความคิดและการกระทำใหม่ ๆ เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ตลอดจนแก้ปัญหาทางการแพทย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
- กิดานันท์ มลิทอง (2540 : 245) ได้กล่าวไว้ว่า นวัตกรรมเป็นแนวความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อนหรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น เมื่อนำนวัตกรรมมาใช้จะช่วยให้การทำงานนั้นได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย
โดยสรุปแล้ว นวัตกรรมหมายถึง ความคิดและการกระทำใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนหรือการพัฒนาดัดแปลงจากของเดิมให้ดีขึ้นและเมื่อนำมาใช้งานก็ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นวัตกรรม คืออะไรและมีที่มาอย่างไร ซึ่งจะอธิบายได้ดังนี้
1. ธรรมชาติ คือ สิ่งต่างๆ รวมถึงปรากฏการณ์ที่อยู่รอบๆตัวเรา เช่น ก้อนดิน ผืนน้ำ ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า
2. วิทยาศาสตร์ คือ ศาสตร์ที่อธิบายธรรมชาติ เช่น ทำไมฟ้าถึงผ่า ทำไมฝนถึงตก ทำไมลูกทุเรียนจึงตกดิน
3. เทคโนโลยี คือ การนำวิทยาศาสตร์ มาทำใช้ในทางปฎิบัติ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี หรือ เทคโนโลยี RFID
4. นวัตกรรม คือ การหยิบจับเทคโนโลยีต่างๆ มาก่อให้เกิดคุณค่า และมูลค่า เช่น นำนาโนเทคโนโลยี ไปใส่ในเสื้อผ้า ทำให้แบคทีเรียไม่เกิดการเติบโต ทำให้ไม่เกิดกลิ่นเหม็นอับ หรือ การนำนาโนเทคโนโลยีไปใส่ในพลาสติก ทำให้พลาสติกเกิดรูพรุนขนาดเล็กสำหรับใช้กรองเชื้อโรค การนำนาโนเทคโนโลยีใส่ในกระจกทำให้ฝุ่นไม่เกาะกระจก จึงเป็นกระจกที่ไม่ต้องการทำความสะอาด

No comments: